วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แม่ท้อง...ระวังท้องแข็ง

อาการท้องแข็งหรือเจ็บท้อง ถ้าเป็นในระดับที่ไม่รุนแรง เจ็บๆ หายๆ อาจไม่น่ากังวล แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกเจ็บมากๆ และไม่หาย ต้องพบแพทย์แล้วค่ะ

ท้องแข็งเกิดจากอะไร
เกิดจากการบีบตัวของมดลูก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่ผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยสังเกตได้จากอาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์มดลูก จะขยายใหญ่ขึ้น และการบีบตัวก็จะมีมากขึ้น จนทำให้คุณแม่รู้สึกปวดท้องหรือท้องแข็งนั่นเอง ซึ่งเกิดจากเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือด คุณแม่จึงรู้สึกเจ็บๆ ตึงๆ ที่ท้อง
โดยมดลูกจะบีบตัวมากที่สุดตอนจะคลอดค่ะ แต่ถ้าคุณแม่มีอาการท้องแข็งหรือปวดท้องมากๆ ทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนดคลอด อาจเป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดได้นะคะ

ท้องแข็งแบบไหน อันตราย
อาการท้องแข็ง สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบดังนี้
ท้องแข็งจริง เกิดจากมดลูกบีบตัว เมื่อคลำที่หน้าท้องจะรู้สึกว่าท้องเป็นก้อนแข็ง และรู้สึกเจ็บแบบปวดนานๆ นอนพักแล้วก็ไม่หาย และถ้ามีเลือดออกร่วมด้วย ควรพบแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นอาการท้องแข็งที่อันตรายแล้วค่ะ โดยเฉพาะกับคุณแม่ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 5 เดือน และยังไม่ถึงกำหนดคลอด

ท้องแข็งลวง เกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เมื่อคลำที่หน้าท้อง ท้องจะตึงที่บริเวณผนังหน้าท้อง อาการปวดหรือเจ็บท้องจะไม่สม่ำเสมอ มีเจ็บแบบสั้นบ้างยาวบ้าง การเจ็บจะไม่ค่อยรุนแรง

นอก จากนี้ ท้องแข็งลวง ยังเกิดได้จากการถูกกระตุ้นที่ผนังมดลูก ส่วนใหญ่จะมีอาการแบบนี้ตั้งแต่อายุครรภ์ 5 เดือนขึ้นไป เพราะคุณแม่จะรู้สึกได้ว่าลูกดิ้น เมื่อลูกดิ้นไปโดนที่ผนังมดลูก มดลูกก็จะถูกกระตุ้นให้บีบตัวจนรู้สึกเจ็บได้ แต่จะเจ็บไม่มาก ไม่สม่ำเสมอ เรียกว่าเจ็บท้องเตือน

บาง ครั้งการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างการลุกนั่งเร็วๆ การเดินเร็ว และการทำกิจกรรมที่ผาดโผน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการกระตุ้นให้ลูกในท้องเคลื่อนไหวไปโดนผนังมดลูก ทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรระวัง เพราะถ้ามดลูกบีบตัวมากๆ อาจกระตุ้นให้เจ็บท้องเตือนกลายเป็นเจ็บท้องจริงทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือแท้ง ลูกได้

บรรเทาอาการท้องแข็ง
อาการท้องแข็งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นเพราะมดลูกถูกกระตุ้นให้บีบรัดตัวค่ะ
ดังนั้น คุณแม่ท้องควรลดกิจกรรมที่จะเป็นการกระตุ้นมดลูก ด้วยการ...
ลดกิจกรรมพาท้องแข็ง ไม่ทำงานหนัก ก้มยกของหนัก หรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการถูกกระตุ้นที่ผนังมดลูก
งดกิจกรรมทางเพศที่ผาดโผน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับลูกน้อย
ไม่ควรขับรถเอง การขับรถเองในช่วงที่ท้องใหญ่ขึ้น คุณแม่จะต้องนั่งอยู่ในท่าที่หน้าท้องถูกกดทับ รถที่วิ่งๆหยุดๆ จะทำให้ลูกกระแทกผนังมดลูกไปมา อาจทำให้เกิดการเจ็บท้องหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
ไม่อั้นปัสสาวะ เพราะถ้ากระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบ จะกระตุ้นให้มดลูกแข็งตัวจนแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้
ไม่กระตุ้นบริเวณเต้านม งดการกระตุ้นเต้านมโดยเฉพาะบริเวณหัวนม ขณะมีเพศสัมพันธ์ และในกรณีที่คุณแม่มีลูกเล็กและกำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรให้ลูกหย่านม เพราะการดูดนมแม่ จะส่งผลให้มดลูกบีบรัดตัวตามไปด้วย
ระวังอุบัติเหตุ เช่น จากการเดินหรือขึ้นลงบันได ถ้าหากล้มคุณแม่จะเจ็บท้องได้ค่ะ
ลดปริมาณเนื้อสัตว์ ในกรณีที่ท้องแข็งเพราะมีแก๊สในกระเพาะ ควรหันมากินผักผลไม้เพื่อเพิ่มไฟเบอร์และดีต่อระบบขับถ่าย ลดการเกิดแก๊สในลำไส้ ทำให้หายแน่นท้องได้

 คุณแม่ทั้งหลายสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=30759
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น