วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

มื้อนี้มีดีที่แคลเซียม

คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายโปรดทราบ ถ้ารับประทานแคลเซียมในยามท้องไม่เพียงพอล่ะก็ อาจเกิดความผิดปกติกับกระดูกและฟันของคุณ รวมถึงเกิดอาการตะคริวกินได้บ่อยๆ ด้วยนะจ๊ะ พูดถึง แคลเซียม คุ้นหูกันดีอยู่แล้วค่ะ ว่าสารอาหารตัวนี้น่ะมีผลต่อกระดูกและฟันโดยตรง ไม่ว่าจะคนวัยไหนก็ต้องการสารอาหารตัวนี้ด้วยกันทั้งนั้น เพื่อใช้ในการช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง แต่จริงๆ แล้วสรรพคุณของเขายังไม่ได้หมดเพียงแค่นี้ แต่ว่าแคลเซียมนั้นยังช่วยต่อต้านโรคความดันโลหิตสูง อาการหัวใจกำเริบ อาการปวดก่อนมีประจำเดือน และมะเร็งลำไส้
สรรพคุณเยอะขนาดนี้ เรามาทำความรู้จักแคลเซียมกันแบบจริงๆ จังๆ ดีกว่าค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งท้องที่ต้องการแคลเซียมมากกว่าวัยไหนๆ เพราะมีเจ้าตัวน้อยอยู่ด้วยอีกคน

แคลเซียมสำคัญนะ
แคลเซียม ถือเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญม้ากมากค่ะ เพราะแคลเซียมทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในกระดูก ปกติร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างแคลเซียมได้เองนะคะ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับจากการบริโภคอาหารเพื่อให้ได้รับแคลเซียมอย่างพอเพียง

คุณๆ คงได้ยินจากโฆษณาบ่อยๆ อยู่แล้วว่านมและผลิตภัณฑ์จากนมมีแคลเซียมสูง บางยี่ห้อก็ปรุงแต่งผลิตภัณฑ์เพื่อการเสริมแคลเซียมไว้โดยตรงทีเดียว เพราะแคลเซียมนั้นนอกจากเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก ฟัน และเนื้อเยื่อต่างๆ ดังที่ได้กล่าวแล้ว แคลเซียม ยังช่วยทำให้กระบวนการต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ เช่น ระบบของกล้ามเนื้อ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเหล่านี้ต้องอาศัย แคลเซียม ทั้งนั้นเลยนะคะ

ยิ่งตอนนี้แคลเซียมถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ เช่น ป้องกันโรคกระดูกพรุน โรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยให้ระบบประสาทคลายตัว ยังช่วยให้นอนหลับได้ง่าย และที่น่าจะถูกใจมากๆ ก็คือแคลเซียมช่วยชะลอความชราได้ด้วย เก๋กู้ดซะไม่มี

แม่ท้องกับแคลเซียม
เราพูดถึงแคลเซียมที่มีความสำคัญต่อคนทุกเพศทุกวัยไปแล้ว ทีนี้เรามาลงลึกในรายละเอียดสำหรับแม่ท้องกันหน่อยดีกว่าค่ะ ว่าแคลเซียมนั้นน่ะ เขาไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแม่ท้องอย่างไรบ้าง
คุณแม่ท้องทั้งหลายคะแคลเซียมนั้น นับได้ว่าเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากคุณแม่ที่ตั้งท้องอยู่จำเป็นต้องได้รับ แคลเซียม มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป เพราะเหตุว่ามีเจ้าตัวเล็กอยู่ในท้อง และแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปนั้นจะไปช่วยพัฒนาโครงสร้างร่างกายของทารกในครรภ์ และก็เป็นความจำเป็นอีกเช่นกันที่แม่ท้องจะต้องรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ เพียงพอในทีนี้คือทั้งคุณแม่และคุณลูกนะคะ มิเช่นนั้นจะมีความเสี่ยงสูงทีเดียวที่จะขาดแคลเซียมเพราะเมื่อขาดแคลเซียมแล้วจะเกิดอาการกล้ามเนื้อปวดเกร็งในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย หรือเรียกแบบชาวบ้านคือ ตะคริวกินนั่นเอง โดยจะเป็นบริเวณน่องและจะเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ไม่ได้ออกกำลังกายหรือเดินมาก ทั้งนี้เป็นเพราะขาดแคลเซียมนั่นเอง มีการศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วยค่ะว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นตระคริวมากถึงร้อยละ 26.8 และส่วนใหญ่เริ่มมีอาการตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 25 สัปดาห์ และอาการดีขึ้นหากได้รับการเสริมแคลเซียม แม่ลออจึงขอสรุปว่าแคลเซียมเป็นสารอาหารที่จำเป็นยิ่งต่อแม่ เพราะนอกจากจะช่วยให้พัฒนาการเติบโตของทารกในท้องครรภ์เป็นปกติแล้ว ยังมีส่วนช่วยรักษาความหนาแน่นของกระดูกคุณแม่ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกระดูกหรือโรคกระดูกพรุน ในภายหลังได้ด้วยนะจ๊ะ

อาหารสร้างแคลเซียม
ไม่ใช่แค่ในนมหรอกนะคะที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เพราะถ้าเกิดว่ามีแต่ในนม คุณแม่ท้องบางคนรับประทานนมไม่ค่อยได้ก็แย่กันพอดี แม่ลออมีแหล่งอาหารอันอุดมไปด้วยแคลเซียมมาฝากกันค่ะ

นอกจากน้ำนมแล้วก็มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ไม่ว่าจะเป็น เนยแข็ง เนยเหลว ไอศกรีม ชีส

กระดูกหรือเปลือกของสัตว์ที่รับประทานได้ เช่น ปลากระป๋อง ปลาป่น ปลากรอบ กุ้งแห้ง กุ้งฝอยสด ปลาเล็กปลาน้อย
เนื้อสัตว์ก็ได้แก่อาหารจำพวก เนื้อปลาทั้งหลาย เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาชิชาโม ปลาแซลมอน ปลาคาวาซากิ

อาหารจำพวกผักที่มีแคลเซียมก็พวกผักใบเขียวต่างๆ อย่างเช่น คะน้า ผักกวางตุ้ง ใบหัวผักกาด ยอดสะเดา ยอดแค สาหร่ายทั้งหลาย มะขามฝักสด
และอาหารจำพวกเต้าหู้และถั่วต่างๆ
ยังไม่หมดค่ะ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ก็มีแคลเซียม แต่ว่ามีในระดับน้อยมากๆ ค่ะ

หลักในการรับประทานแคลเซียมให้ได้ครบนั้น มีข้อแม้สำหรับคุณแม่ท้องหน่อยนึงค่ะว่า ในแต่ละวัน ควรรับประทานอาหารหลายหมู่ หลายประเภท ไม่ควรรับประทานอาหารซ้ำซาก จะเป็นการป้องกันการขาดแคลเซียมได้ดีค่ะ

ถ้าแคลเซียม...ไม่พอ
ถ้าได้รับแคลเซียมไม่พอจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อันนี้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะแม่ท้องนะคะที่ควรรู้ คนไม่ท้องก็สมควรจะต้องทราบเอาไว้เช่นกันจ้ะ
อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหากคุณได้รับแคลเซียมไม่พอ
- ประสาทไวเกินไป หงุดหงิดง่าย
- กระดูกทรุดโทรมลง ฟันผุง่าย ฟันจะมีคุณภาพต่ำ การเจริญเติบโตของกระดูกไม่ดี
- หัวใจอ่อนแอ หลอดเลือดไม่ปกติ
- เกิดภูมิแพ้ง่าย ปวดเอว
- เป็นโรคกระดูกบางในผู้ใหญ่ กระดูกอ่อนในเด็ก กระดูกหักง่าย
- เป็นตะคริว เป็นเหน็บ

คุณแม่ทั้งหลายสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=30518
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น