วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ป้องกัน...ลูกในครรภ์ขาดอาหาร

ถ้าแม่ท้องขาด(อาหาร) ลูกก็ขาด(อาหาร)ด้วย

 
ถ้าเป็นสมัยก่อนคุณอาจนั่งทนทำงานต่อไปได้อีก 2-3 ชั่วโมงหลังจากเวลาอาหารปกติแม้จะยังไม่ได้กินอะไร แต่ยามตั้งครรภ์คงทำแบบนั้นไม่ได้แล้วล่ะ บางคนอาจมีทัศนคติที่ว่าไม่ควรกินมากเพราะลูกในท้องจะได้ตัวเล็ก คลอดง่าย แต่จริงๆแล้วการที่แม่รู้จักเลือกกินอาหาร นอกจากจะไม่ทำให้ตัวเองอ้วนเกินไปแล้ว ลูกในท้องยังแข็งแรงสมบูรณ์ด้วย


ในกรณีที่แม่ขาดอาหาร ลูกในท้องมักจะได้รับผลกระทบอย่างมากค่ะ อันดับแรก คือ มีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดสูง หรือไม่อย่างนั้นทารกที่คลอดออกมา ก็จะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และยังทำให้รกมีขนาดเล็กและเติบโตไม่ดีพอ เมื่อรกทำหน้าที่ได้ ไม่ดี โอกาสที่ลูกจะเสียชีวิตในครรภ์ก็สูงขึ้น ยิ่งในช่วงเดือนแรกๆ และช่วงปลายของการตั้งครรภ์ที่สมองและร่างกายของลูกกำลังพัฒนาเต็มที่นั้น หากลูกมีภาวะขาดอาหารก็จะ เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของลูกได้ อะไรบ่งบอกว่า...ลูกในท้องขาดอาหาร ข้อสังเกตเบื้องต้นของแพทย์ที่จะพิจารณาคือ ขนาดท้องกับอายุครรภ์ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ น้ำหนักของแม่ขึ้นดีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือ เปล่า หรือแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่


ช่วงที่จะเริ่มสังเกตได้คืออายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งถ้าตรวจพบว่าลูกในท้องของคุณมีความเสี่ยงต่อการขาดอาหาร คุณหมอก็จะให้เพิ่มอาหารประเภทโปรตีน และแนะนำให้คุณแม่นอนหลับพักผ่อนให้มากขึ้น
         

แม่กลุ่มเสี่ยง กับปัญหาโภชนาการ*แม่ที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา
*แม่ที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรง ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เลย
*แม่ที่มีความเจ็บป่วยเรื้องรัง ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน
*แม่ที่มีครรภ์แฝด
*แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี เพราะร่างกายยังต้องการอาหารสำหรับการเจริญ เติบโตของตัวแม่เองมากกว่าปกติ
*แม่ที่ทำงานหนัก และเครียดมากเกินไป หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
*แม่ที่ก่อนตั้งครรภ์ มีร่างกายและสุขภาพไม่ดีนัก น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรือกิน อาหารได้น้อยกว่าปกติ


สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=17137
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

ข่าวดี หญิงมีลูกช้าอายุยืนยาวกว่า

ผู้หญิงอยากตั้งครรภ์ควรทราบ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานผลการศึกษาที่เผยให้เห็นว่า ในครอบครัวที่มีสมาชิกมีลูกเมื่ออายุมาก สมาชิกในครอบครัวจะมีอายุยืนยาวกว่า สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตของประชากรกว่า 2 ล้านคน


ดร.เคน อาร์ สมิธ จากมหาวิทยาลัยยูท่าห์ เมืองซอลท์เลค สหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่มีลูกเมื่ออายุ 40 หรือ 50 ปี มีอายุยืนยาวมากกว่า และพี่ชายหรือน้องชายของหญิงผู้นั้นก็มีอายุยืนยาวกว่าคนอื่นด้วยเช่นกัน แต่หญิงที่เป็นภรรยาของพี่ชายหรือน้องชายกลับไม่ได้มีอายุยืนยาวตามไปด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่า พันธุกรรมมีส่วนสำคัญในความเกี่ยวข้องระหว่างการมีลูกเมื่ออายุมาก และอายุที่ยืนยาวของหญิงผู้นั้นและสมาชิกในครอบครัว

การวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หญิงที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก และเป็นการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติไม่ได้ใช้เทคโนโลยีช่วย เมื่อหมดประจำเดือนหญิงที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากจะมีชีวิตได้ยืนยาวกว่า


นอกจากนี้เพื่อที่จะศึกษาว่า ญาติของหญิงเหล่านั้นก็มีอายุยืนยาวด้วยเช่นกัน ดร.สมิธ และทีมงานของเขาได้ศึกษาข้อมูลประชากรชายในรัฐยูทาห์ ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.1800  ถึง ค.ศ.1896 จำนวน 11,604 คน และศึกษาข้อมูลประชากรชายที่เกิดระหว่าง ค.ศ.1670 ถึง ค.ศ.1750 ที่อาศัยในรัฐควีเบค ประเทศแคนาดา จำนวน 6,206 คน ผู้ชายทั้งหมดนี้มีพี่สาวหรือน้องสาวอย่างน้อย 1 คน ที่มีชีวิตยืนยาวเกินกว่า 50 ปี ข้อมูลของประชากรเหล่านี้เป็นข้อมูลอย่างดีในการศึกษาเรื่องนี้ เนื่องจากผู้หญิงในยุคนั้นยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีช่วยตั้งครรภ์ และในสังคมวัฒนธรรมที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายมอร์มอน และโรมันคาธอลิกนั้นไม่สนับสนุนให้มีการคุมกำเนิด

"เรากำลังสังเกตการณ์สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางชีววิทยา ไม่ใช่ผู้หญิงเลือกที่จะมีลูกเมื่ออายุมาก แต่การมีลูกเมื่ออายุมากสะท้อนว่า หญิงผู้นั้นยังมีความสามารถที่จะมีลูกได้" ดร.สมิธ กล่าว

จากการศึกษากลุ่มผู้หญิงในรัฐยูท่าห์จำนวน 14,123 คน นักวิจัยพบว่า ในกลุ่มผู้หญิงที่มีลูกเมื่ออายุมาก พวกเธอมีอายุยืนยาวกว่าผู้หญิงอื่นๆ ผู้หญิงที่มีลูกคนสุดท้ายระหว่างอายุ 41 และ 44 ปี มีอัตราการตายก่อนอายุ 50 ปี น้อยกว่ากลุ่มผู้หญิงที่มีลูกเมื่ออายุน้อยกว่านี้ถึง 6 % แต่ในผู้หญิงกลุ่มที่มีลูกเมื่ออายุ 45 ปี หรือมากกว่านั้น มีอัตราการตายก่อนอายุ 50 ปีน้อยกว่าถึง 14%

ส่วนในกลุ่มผู้หญิงชาวแคนาดาจำนวน 4,666 คน ตัวเลขข้อมูลการเสียชีวิตออกมาคล้ายกัน หญิงที่มีลูกเมื่ออายุ 42 และ 44.5 ปี มีอัตราการเสียชีวิตลดลงกว่ากลุ่มอื่นถึง 7% และลดลงถึง 17% ในกลุ่มผู้หญิงที่มีลูกเมื่ออายุ 44.5 ปี หรือมีลูกเมื่ออายุมากกว่านั้น

ในการศึกษายังพบว่าพี่ชายหรือน้องชายของผู้หญิงที่มีลูกเมื่ออายุมากก็มีอายุยืนยาวด้วยเช่นเดียวกัน จากข้อมูลพบว่า ชายที่มีพี่น้องผู้หญิงอย่างน้อย 3 คน และในจำนวนนี้มีพี่น้องผู้หญิง 1 คนที่มีลูกเมื่ออายุมากจะมีอายุยืนยาวมากที่สุด ในกลุ่มผู้ชายชาวยูท่าห์ที่มีพี่น้องผู้หญิงที่มีลูกเมื่ออายุมาก พวกเขามีอัตราการตายน้อยกว่าถึง 20% ส่วนกลุ่มผู้ชายชาวควีเบคมีอัตราการตายน้อยกว่าถึง 22%

การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า พันธุกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ผู้หญิงอายุมากสามารถมีบุตรได้นั้นยังมีความสัมพันธ์กับการมีอายุยืนยาวของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดร.สมิธ อธิบายว่า เป็นการยากที่จะหาว่า การมีบุตรเมื่ออายุมากส่งผลให้มีอายุยืนยาวได้อย่างไร แต่ในปัจจุบันเราค้นพบแล้วว่า การมีบุตรช้าจะตามมาด้วยการมีภาวะหมดประจำเดือนที่ช้าตามไปด้วย

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=27377
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

ไม่สบาย..ใช้ยาได้ไหมเนี่ย ?

เมื่อไม่ สบายเล็กๆ น้อยๆ คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่คงเคยคิดสงสัยแบบนี้มาแล้วและพอพูดถึงเรื่องไม่สบาย คงหนีไม่พ้นที่ต้องพูดถึงเรื่องยาด้วย หลายคนคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ของยาบางอย่างที่ทำให้ลูกน้อยในท้องพิการ จึงทำให้เกิดความกังวลเวลาไม่สบายขึ้นมา(เพราะอาจต้องกินยา)
จริงครับ ยาบางชนิดอาจมีผลร้ายแรงต่อลูกในท้อง สามารถทำให้เกิดการแท้ง หรือพิการแต่กำเนิดได้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ยาที่ใช้กันทั่วไปส่วนใหญ่แล้วค่อนข้างปลอดภัยทั้งกับคุณแม่และลูกในท้อง แต่เพื่อความไม่ประมาท เมื่อจะใช้ยาคุณแม่ควรต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าแพทย์ผู้ดูแลไม่ได้สั่งยานั้นให้(ซื้อเองตามร้านขายยาทั่วไป)

แม่กินยา..ลูกกินด้วย
ยาเกือบ ทุกชนิด เมื่อคุณแม่กินเข้าไป จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด และส่วนหนึ่งจะผ่านรกไปสู่ลูกในท้อง ทำให้ลูกได้รับยานั้นด้วย ยาจะก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าเป็นยาชนิดอันตรายมากน้อยแค่ไหน และลูกได้รับในปริมาณเพียงใด ที่สำคัญยังขึ้นกับระยะของการตั้งครรภ์อีกด้วย

โดยปกติแล้ว ช่วงเวลาที่อันตรายและอาจทำให้ลูกน้อยเกิดความพิการได้มากที่สุด คือช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ อยู่ ถ้ามีอะไรไปรบกวนในช่วงนี้จะทำให้เกิดความพิการขึ้นมาได้
เมื่อพ้นช่วงนี้ไปแล้วมักไม่มีผลทำ ให้เกิดความพิการอะไรหรอกครับ แต่จะไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มากกว่า ที่สำคัญอีกอย่างคือ มีผลต่อสมอง ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยตลอดตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนหลังคลอด ดังนั้นยาบางชนิดแม้จะไม่ก่อให้เกิดความพิการที่เห็นได้ชัดทางร่างกาย แต่อาจมีผลต่อพัฒนาการของสมองของลูกได้

คุณแม่คงสงสัยว่า แล้วอย่างนี้ถ้าไม่สบายขึ้นมาระหว่างที่ท้องอยู่จะทำอย่างไรดี? จะรับประทานยาได้หรือไม่ ? แล้วยาชนิดไหนอันตราย ? คำ ถามนี้ตอบยาก คงต้องพิจารณาเป็นกรณีไปครับ แต่มีคำแนะนำโดยทั่วไปอยู่บ้าง ถ้าคุณแม่เกิดไม่สบายขึ้นมาหรือจำเป็นต้องรับประทานยาระหว่างตั้งครรภ์

* อย่าลืมประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า คุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ โดยบอกให้แพทย์ เภสัชกร หรือใครก็ตามที่จะรักษาคุณแม่รู้ว่า ฉันกำลังท้องอยู่นะคะ โดยเฉพาะถ้าเพิ่งตั้งครรภ์ (ท้องโตมากแล้วคงไม่ต้องก็ได้ มันเห็นๆ กันอยู่น่ะ)
* ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาใดๆ ก็ตามในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะยาที่ซื้อใช้เอง
* ถามตัวเองหรือหมอที่ดูแลว่า จำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการไม่สบายที่เกิดขึ้นนั้นหรือไม่ มีทางเลือกอื่นบ้างหรือไม่ที่ไม่ต้องใช้ยา
* ถ้าจะต้องใช้ยาชนิดใดก็ตาม คุณแม่ต้องทราบให้แน่ชัดว่า ยานั้นใช้เพื่อรักษาอะไร และมีผลข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะกับลูกในครรภ์ คุณแม่อย่าไปเชื่อเอกสารกำกับยาเสียทีเดียวนะครับ บางทีรายละเอียดในนั้นมีไม่มากพอสำหรับแม่ตั้งครรภ์ อีกอย่างในบ้านเรามักไม่มีเอกสารกำกับยาให้ด้วยซ้ำ ดังนั้นควรปรึกษากับเภสัชกรหรือแพทย์เป็นดีที่สุดครับ
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=1495
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

น้ำในหูไม่เท่ากัน...ยิ่งต้องระวังยามท้อง

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ค่ะ

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Miniere’s disease) เป็นสภาวะความผิดปกติของท่อบรรจุน้ำที่อยู่ในหูชั้นใน โดยมีการขยายตัวจนทำให้ปริมาณน้ำในหูเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้ค่ะ
ผู้ที่เป็นน้ำในหูไม่เท่ากัน จะมีอาการเวียนศีรษะเหมือนบ้านหมุน รู้สึกหนักๆ ในหู หูอื้อ ได้ยินเสียงน้อยลง จะเริ่มจากเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งก่อน และท้ายที่สุด บางรายอาจมีอาการลุกลามจนเป็นทั้ง 2 ข้างได้

แม่ท้อง...อาการคูณสอง
พบว่าแม่
ท้องที่มีปัญหานี้ ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษค่ะ เพราะ...
มีอาการมากกว่าปกติ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิงซึ่งจะมีระดับสูงขึ้นยาม
ท้อง จะไปกระตุ้นให้อาการกำเริบมากขึ้น ทั้งเวียนหัว หูอื้อและได้ยินเสียงน้อยลง
เดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย แม่
ท้องมักมีอาการหูอื้อแบบขึ้นๆ ลงๆ ไม่เป็นตลอดเวลา เมื่อมีอาการแล้วพักสักครู่จนหาย ก็อาจมีอาการขึ้นมาอีกครั้งเมื่อไหร่ก็ได้
ร่างกายอ่อนเพลีย แม้จะไม่เป็นอุปสรรคในการคลอด แต่ขณะ
ท้องอาการเหล่านี้จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย กินไม่ได้และอาจทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็น ถ้าเป็นระดับรุนแรงก็อาจต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด
เสี่ยงอุบัติเหตุ เนื่องจากอาการเวียนหัวเหมือนบ้านหมุนอาจเกิดกับแม่
ท้องได้ตลอดเวลา จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ล้ม เลือดออก จนทำให้คลอดก่อนกำหนด ทำให้เป็นอันตรายได้ทั้งแม่และลูกในท้อง
แนวทางรักษา ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นจึงยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงการบรรเทาอาการและลดปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เท่านั้น ดังนี้...

การใช้ยา ยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันมีหลายกลุ่มด้วยกัน แต่ที่แม่ท้องสามารถกินได้มีตัวเดียวเท่านั้นคือวิตามินบี ซึ่งจะมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในช่องหูชั้นในและลดภาวะเกิดน้ำได้ อย่างไรก็ตามแม้การกินยาจะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่ก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีกทุกเวลาและการใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้นค่ะ



ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ผู้ที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องเพื่ออยู่กับโรคนี้ไปได้อย่างดีที่ สุด นั่นคือการเคลื่อนไหวช้าๆ ลดปัจจัยกระตุ้นต่างๆ พักผ่อนให้เพียงพอค่ะ

การผ่าตัด สำหรับคนท้องไม่สามารถผ่าตัดได้ ต้องรอให้คลอดก่อนจึงจะทำได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพยายามรักษาด้วยวิธีอื่นๆ อย่างเต็มที่ก่อน เพราะการผ่าตัดจะมีความเสี่ยงสูงที่จะกระทบกระเทือนแก้วหูจนอาจทำให้หูดับได้
ผู้ตัดสินใจผ่าตัดมักมีอาการหูไม่ได้ยินเสียงและเวียนหัวมาก จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ จึงยอมเสี่ยงที่จะมีอาการหูดับเพื่อแลกกับการผ่าตัดค่ะ

การฟื้นฟูหลังผ่าตัดหรือการบรรเทาด้วยวิธีอื่นๆ แล้ว การฟื้นฟูด้วยการออกกำลังกายในท่าหมุนศีรษะ เอียงคอสลับซ้ายขวา และก้มเงย จะเป็นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อคอและหัวไหล่ รวมทั้งยังมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำ ซึ่งวิธีการต่างๆ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ค่ะ

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=18869
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

คาถาเด็ดเรียกน้ำนม (แม่)

คุรแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

นวดกระตุ้น
นวดบริเวณเต้านมโดยวางมือลงบริเวณรอบๆ เต้านม แล้วลงน้ำหนักบริเวณนิ้วมือ นวดเบาๆ เป็นการกระตุ้นเพื่อเตรียมความพร้อมของเต้านมอย่างดี คุณแม่สามารถเริ่มนวดกระตุ้นได้ตั้งแต่ช่วงใกล้คลอดที่หน้าอกตึงไปจนถึงหลังคลอด แต่ถ้าหลังคลอดนวดแล้วยังรู้สึกคัดตึงเต้านมมาก ก็สามารถใช้การประคบร้อนสลับเย็นช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และคุณแม่อาจจะคลึงบริเวณรอบเต้านมก่อนให้ลูกกินนมเพื่อให้น้ำนมไหลสะดวกยิ่งขึ้น

กินอาหารเสริมน้ำนม
ช่วงให้นมคุณแม่ต้องเน้นกินอาหารที่มีแมกนีเซียมและแคลเซียมสูงเข้าไว้ค่ะ เพราะปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมในร่างกายที่พอเพียงมีผลต่อกลไกน้ำนมพุ่งปรี๊ด คุณแม่หลังคลอดจึงควรกินผักใบเขียวมากขึ้นเพราะอุดมไปด้วยแมกนีเซียม และกินอาหารจำพวกนม ไข่ ปลา เพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมให้แก่ร่างกาย อาหารเรียกน้ำนมยอดฮิตของคนไทยก็เช่น แกงเลียง ต้มหัวปลี ไก่ผัดขิง ฯลฯ ล้วนเป็นอาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียมและแคลเซียมทั้งสิ้น

ดูด (ปั๊ม) กระตุ้นเป็นประจำ
วิธีเรียกน้ำนมแบบนี้อาจจะเรียกว่าเป็นหลักอุปสงค์อุปทานค่ะ เพราะถ้าคุณแม่อยากมีน้ำนมเยอะ ก็ต้องให้ลูกดูดบ่อยๆ ถึงจะมีน้ำนมหรือไม่ก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมถูกผลิตออกมา สำหรับคุณแม่ที่เป็น Working Mom และจำเป็นต้องกลับไปทำงานก็อย่าพลาดใช้บริการเครื่องปั๊มนม โดยเลือกเครื่องปั๊มที่จังหวะปั๊มใกล้เคียงกับจังหวะดูดของลูก และปั๊มตามเวลาที่ลูกเคยกิน หากไม่ปั๊มตามเวลาเดิมอาจจะทำให้น้ำนมลดลงและหมดไปในที่สุด

ดื่มน้ำอุ่น
คุณแม่ที่ให้นมลูกควรดื่มน้ำอุ่น เพราะว่าน้ำอุ่นจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เลือดไหลเวียนได้ดีเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง และถ้าดื่มก่อนให้นมทุกครั้งอาจจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ร่างกาย ทำให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้นอีกด้วย
การให้นมแม่ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพียงคุณแม่ตั้งใจมั่น ผ่อนคลาย และปล่อยให้ไปเป็นตามธรรมชาติ เท่านี้เจ้าตัวเล็กก็จะได้รับน้ำนมแม่อย่างเพียงพอแล้วล่ะค่ะ

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=25920
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

คัดกรองเด็กดาวน์

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรศึกษาไว้
เหตุใดต้องตรวจคัดกรอง

ประเทศ ที่เจริญแล้วมักมีความพยายามลดปริมาณเด็กดาวน์ที่เกิดในประเทศ เพื่อลดภาระของประเทศและสังคมโดยรวม จึงมีความพยายามที่จะหามาตรการวินิจฉัยเด็กในครรภ์ให้ได้ก่อนคลอด เพื่อพิจารณายุติการตั้งครรภ์กรณีที่ทราบได้เร็วก่อนที่ทารกจะอยู่รอด หรือทราบเพื่อเตรียมตัวดูแลลูกเมื่อหลังคลอด แต่ถึงอย่างไรนั้นปัจจุบันยังไม่มีวิธีการแก้ไขภาวะเด็กดาวน์
ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ครับ 
วิธีการตรวจกรองเด็กดาวน์

การ ตรวจกรอง (Screening) เป็นเพียงการประเมินความเสี่ยงให้เฉพาะเจาะจงกับคุณแม่แต่ละคนครับ ซึ่งจะมีความจำเพาะกว่าการใช้ตัวเลขความเสี่ยงเฉลี่ยของอายุเป็นตัวแทนความ เสี่ยงเฉลี่ยของตัวเอง เช่น คุณแม่คนหนึ่งอายุ 30 ปี โดยเฉลี่ยความเสี่ยงที่คุณแม่คนนี้จะให้กำเนิดเด็กดาวน์อยู่ที่ประมาณ 1:900 (ดูตามตารางความเสี่ยงครับ) ซึ่งนี่คือความเสี่ยงเฉลี่ยของคุณแม่ที่อายุ 30 ปีจำนวนมาก แต่ว่าคุณแม่ที่อายุ 30 ปีแต่ละคนอาจมีความเสี่ยงมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้

การตรวจกรองโดย การเจาะเลือดแม่เป็นการปรับความเสี่ยงให้เป็นความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละคนครับ เช่นคุณแม่ที่อายุ 30 ปีท่านนี้ (ความเสี่ยงเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 1:900) แต่เมื่อตรวจกรองเลือดแล้ว ความเสี่ยงอาจเปลี่ยนเป็น 1:2000 ซึ่งอาจทำให้คุณแม่สบายใจขึ้น หรืออาจถูกเปลี่ยนเป็น 1:100 หลังจากตรวจแล้ว ซึ่งความเสี่ยงนี้เทียบเท่ากับความเสี่ยงของคุณแม่ที่มีอายุเท่ากับ 40 ปี ในกรณีหลังคุณแม่ท่านนี้จะได้รับคำแนะนำให้ตรวจน้ำคร่ำเพราะถือว่ามีความ เสี่ยงสูง แต่จะยังไม่ได้รับวินิจฉัยว่ามีทารกดาวน์ครับ

วิธีการ ตรวจโดยทั่วไปเป็นการตรวจสารชีวเคมี 3 ตัว ได้แก่ Alpha fetoprotein (AFP) , Unconjugated estriol (uE3) , Human chorionic gonadotropin ( hCG) ซึ่งมักเรียกว่า Triple test หรือ Triple screening (บางสถาบันอาจตรวจสารชีวเคมี 2 ตัวหรือ 4 ตัว ซึ่งก็เรียกว่า Double test หรือ Quadruple test ตามลำดับครับ ซึ่งจะให้ความไวในการตรวจจับเด็กดาวน์ต่างกันบ้างเล็กน้อย)

ช่วง เวลาที่เหมาะสมกับการตรวจน้ำคร่ำคือเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ16-20 สัปดาห์ โดยผลจะทราบหลังการตรวจ 1 สัปดาห์ การตรวจวิธีนี้มีความไวในการตรวจกรองเด็กดาวน์ประมาณร้อยละ 60-65 หมายความว่าหากมีแม่ที่อุ้มเด็กดาวน์100 คน ตรวจ Triple screening แล้ว ผลจะบอกว่ามีความเสี่ยงสูงและควรไปตรวจน้ำคร่ำต่อไปจำนวน 60-65 ราย ซึ่งในกลุ่มนี้จะทำให้ทราบว่ามีเด็กดาวน์ในที่สุด จะเห็นได้ว่าTriple screening จะไม่สามารถตรวจจับเด็กดาวน์ได้อีกร้อยละ 35-40 นอกจากนี้ ตัว test นี้ยังให้ผลบวกลวงร้อยละ 5 กล่าวคือ หากนำ test นี้ไปตรวจในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เด็กปกติ100 ราย test นี้จะบอกว่ามีความเสี่ยงต่ำเพียง 95 ราย และจะบอกว่ามีความเสี่ยงสูง 5 ราย ซึ่งใน 5 รายนี้ จะถูกแนะนำให้ไปตรวจน้ำคร่ำในที่สุด

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำวิธีการตรวจกรองในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์มาใช้โดยตรวจ hCG และ PAPP-A ( Pregnancy associated plasma protein-A) ทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10-13.6 สัปดาห์ วิธีนี้มีข้อดีกว่าวิธีเดิมอยู่บ้างตรงที่สามารถนำข้อมูลของการตรวจเลือดไป ใช้แปรผลร่วมกับการตรวจความหนาของหนังคอทารกในครรภ์โดยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มความไวในการตรวจกรองเป็นร้อยละ 90-95 โดยมีผลบวกลวงร้อยละ 5 เช่นเดิมครับ แต่เนื่องจากวิธีนี้ยังเป็นวิธีที่ใหม่อยู่ จึงยังไม่ได้แนะนำให้ใช้กันแพร่หลายอย่างวิธีดั้งเดิมครับ  


 คุณแม่สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=12449
ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

ทำไงดี...มีลูกยากจัง

นั่นสิคะ...เพราะปัญหามิได้อยู่แค่ว่า "มีลูกยาก" เท่านั้น
แต่ยังอยู่ที่ "ทำใจยาก (ยิ่งกว่า)" เมื่อพยายามมี แต่มีไม่สำเร็จสักทีด้วยน่ะสิ เฮ้อ!

คุณแม่ที่อยากตั้งครรภ์ลองอ่านดูน่ะ
ถ้า พูดถึงครอบครัวในภาพที่ทุกคนจินตนาการไว้ก็คงต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก อยู่กันอย่างพร้อมหน้า นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน เย้าแหย่กันตามประสาตามวิถีชีวิตของแต่ละคน มีความสุขเมื่อได้เห็นรอยยิ้มของลูก ได้เห็นการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าของลูก นั่นเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกท่านต้องการและตั้งความหวังไว้ แต่จะมีพ่อแม่กลุ่มหนึ่งจนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถมีลูกไว้เชยชมได้ ดังเช่นประสบการณ์ของพ่อแม่คู่ที่กำลังจะเล่าให้ฟัง ซึ่งอาจจะตรงหรือใกล้เคียงกับประสบการณ์ของพ่อแม่บางท่าน

อย่างไรจึงเรียกว่า "มีลูกยาก"
เมื่อ พูดถึงการมีลูกยากโดยทั่วไปจะหมายความว่าชายหญิงอยู่ด้วยกัน มีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ โดยไม่ได้คุมกำเนิดแล้วยังไม่สามารถที่จะมีลูกได้ในระยะเวลา 1 ปี นั่นเป็นความหมายโดยทั่วๆไป แต่อยากจะเตือนนะครับว่าคุณแม่ท่านไหนที่อายุมาก โดยเฉพาะอายุมากกว่า 38 ปีขึ้นไป ถ้าได้พยายามที่จะมีลูกสัก 6 เดือนแล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ควรจะรีบปรึกษาแพทย์นะครับ อย่าชะล่าใจปล่อยไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งอายุมากโอกาสการตั้งครรภ์จะน้อยลง การรักษาจะยากขึ้นมาก แต่ถ้าอายุยังน้อยก็ยังพอที่จะรอได้นะครับยังไม่ต้องใจร้อนรีบปรึกษา
เพราะ โดยทั่วไป ชายหญิงอยู่ด้วยกันมีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ จะมีโอกาสการตั้งครรภ์ภายในปีแรกประมาณร้อยละ 85 มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่จะเข้าข่ายการมีลูกยาก แต่ยกเว้นในคู่ที่ประวัติมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาการมีลูกยาก เช่น ฝ่ายหญิงเคยผ่าตัดในช่องท้องมาก่อน มีประวัติการอักเสบในอุ้งเชิงกราน หรือฝ่ายชายเคยมีลูกอัณฑะอักเสบ หรือเคยผ่าตัดบริเวณลูกอัณฑะ เป็นต้น คู่เหล่านี้ควรจะปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ

 คุณแม่สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=21814
ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/