วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

APS โรคนี้มีที่มา

โรค Antiphospholipid Antibody Syndrome หรือ APS เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด ซึ่งอาจเป็นที่เส้นเลือดแดงหรือเส้นเลือดดำก็ได้ ถ้าพบโรคนี้ในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้งลูก ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อยๆ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ ถึงชื่ออาจไม่คุ้นหู แต่ก็น่าทำความรู้จักไว้สักนิดดีกว่าครับ

ต้นตอ APS
แม้ สาเหตุของการเกิด APS ยังไม่ทราบแน่ชัด ทว่าเราสามารถพบโรคนี้ได้ 2-4 % ของคนทั่วไป แต่สันนิษฐานกันว่าอาจเป็นผลของ Antiphospholipid Antibody ต่อเยื่อบุชั้นในของเกร็ดเลือด หรือส่วนประกอบการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดความผิดปกติของผนังด้านในของหลอดเลือด โดยมีภูมิคุ้มกันในร่างกายมาเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน ความผิดปกตินี้มักเกิดตามหลังจากมีการติดเชื้อภายในร่างกาย
APS มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ
1. Primary Antiphospholipid Syndrome จะตรวจพบความผิดปกติ โดยไม่มีโรคอื่นนำมาก่อน
2.Secondary Antiphospholipid Syndrome จะเกิดหลังจากผู้ป่วยมีโรคอื่นนำมาก่อน เช่น โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ทำอันตรายต่อตนเอง (Autoimmune ) ที่พบบ่อยที่สุด คือโรค Systemic Lupus Erythematosus (SLE) นอกจากนั้นอาจเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง หรือการได้รับยาบางชนิด
 
ใครเสี่ยงกับ APS บ้าง
1.ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางภูมิคุ้มกัน ได้แก่ โรค SLE โรคหลอดเลือดอักเสบ
2.ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น จากเชื้อไวรัส ได้แก่ เอดส์ หัดเยอรมัน จากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ซิฟิลิส วัณโรค
3.โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือด และมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ
4.การใช้ยาบางชนิด เช่น Procainamide , Phenothiazine ,Quinine เป็นต้น
5.ภาวะอื่นๆ เช่น การล้างไต

อาการบ่งบอก
คนทั่วไป : กลุ่มอาการนี้ทำให้ภาวะหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด โดยพบว่าเป็นที่หลอดเลือดดำมากกว่าหลอดเลือดแดง คล้ายกับโรคหลอดเลือดอักเสบ แต่ลักษณะการอักเสบน้อยกว่า บริเวณที่พบบ่อยที่สุดคือ บริเวณขา นอกจากนี้ยังสามารถพบการอุดตันของหลอดเลือดที่ไต ตับ จอประสาทตา และสมอง ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะนั้นๆ เช่น ความผิดปกติในหลอดเลือด เกิดความผิดปกติทางผิวหนัง โดยอาจพบผื่นนูน ก้อนใต้ผิวหนัง หรือมีลักษณะเป็นตาข่ายร่างแหสีม่วงคล้ำๆ โดยพบบริเวณต้นขา หรืออาจพบมีการตายของผิวหนัง รวมถึงนิ้วมือและนิ้วเท้าจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เป็นแผลเรื้อรัง เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีการตายของเนื้อสมอง เกิดอาการปวดศีรษะคล้ายๆ ไมเกรน อาจมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ไปจนถึงอาจมีอาการชัก หรือมีอาการทางจิต เกิดความผิดปกติของระบบหัวใจ ทำให้มีก้อนลิ่มเลือดในหัวใจ หัวใจขาดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
 
หญิงตั้งครรภ์ : สามารถพบได้ทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ ทำให้การตั้งครรภ์ผิดปกติ การเจริญของทารกในครรภ์ต่ำกว่าปกติ การเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ โดยที่ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้งโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้ อีกทั้งยังพบข้อมูลว่า อัตราการสูญเสียทารกในแม่ที่ไม่ได้รับการรักษาสูงถึง 90% (Antiphospholipid Antibody Syndrome and pregnancy : Teresa G Berg ,FACOG ,University of Nebraska Medical Center,2008)
การ วินิจฉัยโรคในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้ จะพบการอุดตันของหลอดเลือดดำและแดง มีภาวะทารกตายในครรภ์ ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ ร่วมกับการตรวจพบ Antiphospholipid Antibody คือ Lupus 
anticoagulant และ anticardiolipin antibodies

 คุณแม่ทั้งหลายสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=27780
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น