วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ป้องกันหัดเยอรมัน

หัด เยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 สัปดาห์ จากนั้นก็จะมีอาการเริ่มแรกคือ เป็นไข้ รู้สึกไม่สบายตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย เหมือนกับเป็นไข้หวัดนั่นแหละครับ แต่อาการจะไม่รุนแรงมากนัก ต่อมาก็เริ่มออกผื่นตามตัว ลักษณะผื่นก็จะคล้ายออกหัดครับ คือเป็นเม็ดเล็กๆ แดงๆ ทั่วไป ไม่มีอาการเจ็บหรือคันแต่อย่างไร ผื่นนั้นก็จะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 วันก็จะค่อยๆ จางลงไป และหายไปได้เองในที่สุด การรักษานั้นก็เป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เมื่อเป็นโรคหัดเยอรมันแล้วร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งก็เหมือนกับการฉีดวัคซีน คือ จะมีภูมิคุ้มกันอยู่ตลอดไป เคยเป็นแล้วก็จะไม่เป็นซ้ำอีกนั่นเองครับ

โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ ทางระบบการ หายใจ จากการไอ จาม ช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้ ก็ตั้งแต่มีไข้จนถึงออกผื่นแหละครับ จริงๆ แล้วช่วงที่มีโอกาสติดต่อมากที่สุดนั้นคือช่วง 2-3 วัน ก่อนจะมีผื่นขึ้น ส่วนการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกันนั้น ไม่ติดต่อครับ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรค แม้จะไม่ถูกตัวกันก็มีโอกาสติดโรคได้ โดยเฉพาะถ้าอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ในห้องแอร์ที่ทำงาน ฯลฯ ก็จะทำให้ติดโรคได้ง่ายยิ่งขึ้น


ถ้าเป็นระหว่างตั้งครรภ์
หัด เยอรมัน ถ้าเป็นระหว่างตั้งครรภ์ ความรุนแรงของโรคก็ไม่แตกต่างไปจากคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียอะไรร้ายแรงต่อตัวคุณแม่เลย แต่ปัญหาจะเกิดกับลูกในท้องเสียมากกว่า หากแม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ ลูกในท้องก็มีโอกาสติดเชื้อเช่นเดียวกัน และถ้าทารกติดเชื้อ ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลร้ายแรงตามมา ที่สำคัญที่สุดคือความพิการแต่กำเนิด

ก่อน อื่น ต้องทำความเข้าใจกันหน่อยว่า การติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์นั้น แยกเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ คือการติดเชื้อในทารก และความพิการของทารกหลังจากติดเชื้อ ซึ่งโอกาสที่จะเกิด 2 กรณีนี้ ขึ้นกับว่าคุณแม่ติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วงไหนของการตั้งครรภ์ โรคนี้ก็เหมือนกับโรคอื่นที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ คือ ผลเสียจะเกิดมากถ้าเป็นตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทุกระบบ และถ้ามีอะไรผิดปกติเข้ามารบกวนในช่วงนี้ จะทำให้การสร้างอวัยวะต่างๆ นั้นผิดปกติไปได้ครับ

ถ้าคุณแม่ติดเชื้อ ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ลูกในท้องมีโอกาสติดเชื้อด้วยสูง อาจถึงร้อยละ 80 ทีเดียว เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ถ้ามีการติดเชื้อ โอกาสติดเชื้อ ของลูกก็ยิ่งน้อยลงครับ เช่น ถ้าติดเชื้อตอนช่วง 6 เดือน ลูกในท้องมีโอกาสติดเชื้อเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น สำหรับทารกที่เกิดการติดเชื้อนั้น มีโอกาสจะเกิดความพิการได้หลายอย่าง โอกาสที่จะเกิดความพิการนั้นก็เป็นไปได้ในทำนองเดียวกันครับ คือ ยิ่งติดเชื้อตอนอายุครรภ์มากขึ้น โอกาสที่จะเกิดความพิการก็ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ โอกาสที่ทารกจะพิการนั้นพบได้สูงถ้าเกิดการติดเชื้อในช่วง 3 เดือนแรก โดยสูงถึงประมาณร้อยละ 50 ถ้ามีการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์เดือนแรก ประมาณร้อยละ 20 ถ้าติดเชื้อในช่วงเดือนที่สอง และประมาณร้อยละ 5 ถ้าติดเชื้อในช่วงเดือนที่สาม แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อในช่วงเดือนที่สี่ โอกาสเกิดความพิการจะเหลือเพียงประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น และแทบไม่พบความพิการเกิดขึ้นเลย ถ้าคุณแม่ติดเชื้อหลังตั้งครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว

ความพิการที่เกิดขึ้นกับลูกในท้องนั้นพบได้หลายรูปแบบ และเกิดขึ้นกับหลายระบบของร่างกายได้แก่...

* ตา อาจเกิด ต้อกระจก, ต้อหินได้ ฯลฯ
* หัวใจ อาจเกิด รูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจ ฯลฯ
* หู ทำให้เกิดหูหนวก
* ระบบประสาท อาจทำให้เกิด เยื้อหุ้มสมองอักเสบได้
* การเจริญเติบโตช้ากว่าปกติตั้งแต่ในครรภ์
* ระบบเลือด ทำให้ซีด หรือเกร็ดเลือดต่ำ
* ทำให้เกิดตับอักเสบ, ตับโต หรือ ดีซ่านได้
* มีความผิดปกติของระบบกระดูก


  คุณแม่ทั้งหลายสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.momypedia.com/knowledge/pregnancy/detail.aspx?no=1832
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.momypedia.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น